18 มิถุนายน 2554

ไอทีกับการพัฒนาการศึกษา

               วันนี้ได้อ่านบทความเรื่อง ไอทีกับการพัฒนาการศึกษา เห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการนำมาเป็นแนวทางในการพัฒนาการศึกษาของครูในโรงเรียน โดยอาศัยความสามารถของเทคโนโลยีต่างๆ ถึงแม้ว่าบทความนี้จะกล่าวถึงในส่วนของการนำไอทีมาใช้ในมหาวิทยาลัยก็ตาม แต่เราสามารถนำมาประยุกต์และปรับใช้ในโรงเรียนของเราได้ในบางเรื่อง ...
               ถ้าสนใจอ่านบทความเรื่องอื่นๆ สามารถติดตามอ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติมได้ที่ http://www.ku.ac.th/magazine_online/index.html

               ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีไอทีมีอัตราเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นที่ยอมรับว่าการเติบโตของเทคโนโลยีนี้ ยังเป็นไปตามกฎของมัวร์ (Moore's Law) กล่าวคือ มีอัตราการพัฒนาเป็นสองเท่าทุก ๆ 12-18 เดือน เช่น ความเร็วของซีพียูทำงานได้จาก 10 MHz เป็น 20 MHz ในปี ค.ศ. 1990 ความเร็วของพีซีใช้ซีพียูทำงานที่ความเร็ว 33 MHz จนในปัจจุบันสามารถทำงานได้ถึง 1000 MHz ความจุของฮาร์ดดิสค์ก็เพิ่มจาก 10 MB และเพิ่มมาเป็น 40 MB ในปี ค.ศ. 1990 จนเพิ่มเป็น GB และหลายสิบ GB ในปัจจุบัน

               ไอทีจึงมีผลต่อระบบการศึกษาโดยตรง ไอทีเกี่ยวข้องโดยตรงกับการรวบรวมข้อมูล ข่าวสาร ความรอบรู้ จัดระบบ ประมวลผล ส่งผ่านและสื่อสารด้วยความเร็วสูง และปริมาณมาก นำเสนอและแสดงผลด้วยระบบสื่อต่าง ๆ ทั้งทางด้านข้อมูล รูปภาพ เสียง ภาพเคลื่อนไหว และวิดิโอ อีกทั้งยังสามารถสร้างระบบการมีปฏิสัมพันธ์โต้ตอบ ทำให้การเรียนรู้ในยุคใหม่ประสบผลสำเร็จด้วยดี  หากพิจารณาการเรียนรู้ในยุคใหม่ ที่มีขุมความรู้มากมายมหาศาล การเรียนรู้ในยุคใหม่ใช้ขุมความรู้ที่เรียกว่า world knowledge แหล่งความรู้เกิดขึ้นตลอดเวลา มีจำนวนมาก และกระจายอยู่ทั่วโลก การเรียนรู้ในยุคใหม่ต้องเรียนรู้ได้มากและรวดเร็ว อีกทั้งต้องสามารถแยกแยะ ค้นหา ข่าวสาร ตลอดจนการแสวงหาสิ่งที่ต้องการได้ตรงตามความต้องการ
               ไอทีจึงเข้ามามีบทบาทที่สำคัญต่อการพัฒนาการศึกษาอย่างมาก บทบาทของมหาวิทยาลัยจึงต้องให้ความสำคัญในเรื่องของไอทีเพื่อพัฒนาการศึกษา พัฒนาการเรียนรู้ การเรียนการสอน ตลอดจนขบวนการเรียนรู้ และการประกันคุณภาพการศึกษาของมหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยได้เน้นการใช้ไอที เพื่อประโยชน์ต่อการศึกษามากมาย และได้พัฒนาระบบไอทีเพื่อสนองตอบการพัฒนาการศึกษา ซึ่งได้แก่
                การพัฒนาเครือข่ายของมหาวิทยาลัย เพื่อการเรียนการสอน โดยเน้นการเชื่อมโยงทุกวิทยาเขตเข้าด้วยกัน และใช้ทรัพยากรร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งข้อมูลการเรียนรู้ข้อมูลการบริหาร ข้อมูลนิสิต และการใช้อินเทอร์เน็ต อินทราเน็ตเพื่อการศึกษา เครือข่ายของมหาวิทยาลัยจึงเป็นเส้นทางด่วนข้อมูลที่เน้นใช้ประโยชน์หลากหลายรูปแบบ ทั้งทางด้านการเรียนการสอน งานวิจัย และงานบริการการศึกษา งานบริหารการศึกษา งานจัดการการศึกษา งานติดต่อสื่อสารระหว่างกัน
                การสร้างโฮมเพ็จรายวิชา เพื่อให้คณาจารย์ของมหาวิทยาลัยจัดทำโฮมเพ็จประจำวิชา เป็นที่เก็บทรัพยากรการสอน และการเรียนรู้ เป็นที่ติดต่อสื่อสารกับนิสิต การรับส่งการบ้าน การให้ข้อมูล ตลอดจนเอกสารคำสอนต่าง ๆ โฮมเพ็จรายวิชาเป็นตัวแทนของอาจารย์ที่ใช้ในการดำเนินการการเรียนการสอน โฮมเพ็จรายวิชาทำให้แหล่งทรัพยากรการเรียนการสอนใช้งานร่วมกันได้ดี และมีประโยชน์ ปัจจุบันระบบเว็บมีบทบาทสำคัญเพราะสร้างง่ายได้คุณภาพ
                การออนไลน์ระบบห้องสมุด เพื่อให้ติดต่อค้นหาข้อมูล ดูรายชื่อรายการ ตลอดจนค้นหาเอกสารและหนังสือของห้องสมุดกลางของมหาวิทยาลัย ระบบออนไลน์ยังเชื่อมโยงทรัพยากรระหว่างมหาวิทยาลัย เชื่อมโยงการใช้งานร่วมกัน ทำให้ประหยัดการลงทุน และลดความซ้ำซ้อนในระบบได้ดี โดยเฉพาะปัจจุบันมีการสร้างวิทยาเขตที่กระจายการศึกษา
                การสร้างโมเดลการเรียนรู้แบบอะซิงโครนัส โดยเน้นใช้ทรัพยากรไอที เพื่อการเรียนการสอนแบบ any time any where และ any person ระบบการเรียนรู้โดยใช้ไอทีสามารถสร้างเป็นเครือข่ายแห่งการเรียนรู้ โมเดลเครือข่ายแห่งการเรียนรู้
                การเรียนการสอนทางไกล เป็นโมเดลใช้ในเรื่องการเรียนการสอนข้ามวิทยาเขต สามารถเปิดการเชื่อมโยงแบบวิดิโอคอนเฟอเรนซ์แบบสองทิศทางไปยังวิทยาเขตต่าง ๆ ของมหาวิทยาลัย เพื่อลดข้อจำกัดในเรื่องระยะทาง ปัจจุบันมีการใช้ทรัพยากรไอทีไปสร้างโมเดลของมหาวิทยาลัยในรูปแบบที่เรียกว่า วิทยาเขตสารสนเทศ โดยให้ความสำคัญของการเชื่อมโยงข่าวสาร และการเรียนการสอนทางไกลเพื่อขจัดตัวแปรในเรื่องระยะทาง ทำให้ทุ่นค่าใช้จ่ายในเรื่องการลงทุน และระยะเวลา ทำให้สามารถเปิดวิทยาเขตใหม่ ๆ ได้เร็ว
                โครงการดิจิตอลไลบรารีเป็นการใช้ระบบห้องสมุดและการสร้างหนังสือแบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อใช้ประโยชน์ในเรื่องการเป็นห้องสมุดในอนาคตที่จะมีข้อมูล และหนังสือแบบดิจิตอลเพื่อประโยชน์ทางด้านการศึกษาเป็นจำนวนมาก ตลอดการสร้างวารสารบนเครือข่าย หรือที่เรียกว่า Magazine on Net
                การสร้างทรัพยากรการศึกษาภายในแบบ ftp เป็นการสร้างระบบเก็บข้อมูลเพื่อเป็นฐานบริการข้อมูล ซอฟต์แวร์ เอกสาร สิ่งพิมพ์ในรูปแบบเป็นไฟล์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อการบริการการเรียนการสอนและการบริการ สถานีบริการ ftp จึงเปรียบเสมือนที่เก็บข้อมูลขนาดใหญ่ที่จะรองรับระบบการใช้ข้อมูลเอกสาร ซอฟต์แวร์และสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ
                การขยายขอบเขตการคำนวณและงานวิจัย โดยพัฒนาระบบการดำเนินแบบขนาน โดยใช้คอมพิวเตอร์พีซีจำนวนมากมาต่อร่วมกันเป็นคลัสเตอร์ บริการการคำนวณร่วมกันแบบขนาน เช่น โครงการพิรุณ 72 โหนด เพื่อเป็นฐานบริการแบบอเนกประสงค์ให้กับการเรียนการสอน การสร้างโฮมเพ็จส่วนบุคคล การใช้ทรัพยากรโปรแกรมการคำนวณ ปัจจุบันมีการพัฒนาซอฟต์แวร์บริการเฉพาะแบบขนานจำนวนมาก เช่น ภาษาคอมพิวเตอร์แบบขนาน parallel C parallel Pascal Parallel FORTRAN และยังมีทรัพยากรซอฟต์แวร์ให้ใช้ร่วมกัน โดยเฉพาะงานคำนวณทางคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ที่ต้องการความเร็วสูง
                ระบบการค้นหาทรัพยากรบนเครือข่าย เน้นการใช้ระบบ Search Engine เพื่อค้นหาข้อมูลข่าวสาร เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้ใช้ประโยชน์ ระบบ Search engine เป็นระบบที่บริการการค้นหาข้อมูลข่าวสารที่ต้องการได้ การค้นหาข้อมูลสามารถทำได้อย่างอัตโนมัติ
                การลดค่าใช้จ่ายด้วยเทคโนโลยีเครือข่าย เป็นระบบที่ทำให้มีการสื่อสารระหว่างบุคคล ระหว่างนิสิต อาจารย์ ข้าราชการ ระบบยังรวมการเชื่อมโยงทั้ง Voice และ Data สามารถทำให้การเชื่อมโยงระหว่างวิทยาเขตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ สามารถทำระบบการประชุมทางไกล การสร้างคุณค่าเพิ่มในเรื่องการสื่อสาร การส่งอีเมล์ การใช้ Netmeeting เพื่อการประชุมแบบโต้ตอบ การสร้างโมเดล data flow เพื่อการบริหารและจัดการทำให้สามารถลดการใช้กระดาษและลดระยะเวลา โดยเน้นการใช้กระดาษอิเล็กทรอนิกส์
                การใช้ระบบการกระจายเสียง วิทยุ ทีวีบนเครือข่าย ปัจจุบันสามารถตั้งสถานีวิทยุ และทีวีบนเครือข่ายได้ง่าย เรามีระบบ Real Audio ที่สามารถส่งกระจายสัญญาณเสียงแบบวิทยุ ทำให้ผู้ใช้งานบนเครือข่ายรับฟังได้พร้อมกัน ระบบ Real Video ทำให้ส่งกระจายสัญญาณโทรทัศน์ มหาวิทยาลัยสามารถตั้งสถานีโทรทัศน์และวิทยุของตนเองด้วยต้นทุนที่ต่ำ มีการจัดรายการวิทยุและโทรทัศน์ หรือการถ่ายทอดสดในเหตุการณ์สำคัญบนเครือข่าย และสามารถแพร่กระจายออกไปทั่วโลกบนอินเทอร์เน็ตได้ การดำเนินการในเรื่องการกระจายสัญญาณมีระบบหลักที่เป็นเทคโนโลยีที่สร้างคุณค่าพิเศษหลายอย่าง เช่น เทคโนโลยี Multicast เทคโนโลยี Point Cast มีการพัฒนาระบบหลักที่เรียกว่า MBONE เพื่อกระจายสัญญาณอย่างมีประสิทธิภาพ มหาวิทยาลัยสามารถใช้ระบบการกระจายสัญญาณเป็นห้องปฏิบัติการสำหรับนิสิตทางสาขานิเทศศาสตร์ได้
                ระบบวิดิโอออนดีมานด์ เมื่อมีการเรียนการสอนทางไกลเกิดขึ้น จะมีการบันทึกการเรียนการสอนเป็นวิดิโอ สามารถนำเอาข้อมูลวิดิโอทั้งหมดรวมทั้งแผ่นใสเพาเวอร์พอยต์ นำเก็บไว้ในเซิร์ฟเวอร์ให้นิสิตเรียกใช้ได้ภายหลังเกิดเป็นการเรียนแบบอัธยาศัยเกิดขึ้น
                การบริการวารสารบนเครือข่าย ปัจจุบันการสร้างวารสารแบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ออกรายประจำและให้บริการแก่สมาชิก มีทั้งที่ส่งให้สมาชิกแบบแนบไปกับจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ หรือการใส่ไว้ในเครือข่ายบนเซิร์ฟเวอร์เพื่อให้เรียกใช้งาน การบริการกับสมาชิกมีทั้งที่บริการสาธารณะ หรือการบอกรับ และการเสียค่าบริการ
                การบริการข้อมูลกับนิสิตและสมาชิก ในมหาวิทยาลัยมีข้อมูลบริการต่าง ๆ อยู่มาก เช่น การลงทะเบียนเรียนผ่านเครือข่าย การเรียกดูผลการเรียน การสอบถามข้อมูลเกี่ยวข้องกับตัวนิสิต และผู้เกี่ยวข้อง

          รูปแบบของวิทยาเขตสารสนเทศกับการใช้ไอที
               จากการกระจายการศึกษาไปยังภูมิภาค และข้อจำกัดในเรื่องทรัพยากรหลายด้าน การใช้ไอทีจึงเป็นทางออกทางหนึ่งของการพัฒนาการศึกษาไทย ปัจจุบันทบวงมหาวิทยาลัยได้เน้นโครงการสร้างวิทยาเขตสารสนเทศขึ้น ในจังหวัดต่าง ๆ เพื่อกระจายการศึกษาไปยังภูมิภาค เน้นรูปแบบการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้าไปช่วย เพื่อลดข้อจำกัด เช่น การเรียนการสอนผ่านวิดิโอคอนเฟอเรนซ์ การใช้ห้องสมุด การใช้วิดิโอออนดีมานด์ การใช้เครือข่ายเชื่อมโยงข้อมูลข่าวสารไปยังขุมความรู้โลก คือ อินเทอร์เน็ต ทบวงมหาวิทยาลัยจึงให้ความสำคัญในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางเครือข่ายชื่อUNINET
               วิทยาเขตสารสนเทศทำให้วิทยาเขตที่เกิดใหม่ ใช้ทรัพยากรบางอย่างจากมหาวิทยาลัยที่มีความพร้อมอยู่แล้ว โดยเน้นให้เกิดการกระจายโอกาส ลดระยะทางระหว่างกัน

          ความสำเร็จของระบบการศึกษา : ไอทีจะเข้ามามีส่วนร่วมด้วย
               พัฒนาการของไอทีก้าวล้ำไปอย่างรวดเร็ว ไอทีเป็นกลไกที่สำคัญที่จะนำระบบการเรียนรู้ และการศึกษาให้ได้ประโยชน์สูงสุด ไอทีเป็นฐานการพัฒนาที่มีบทบาทและความสำคัญในทุกมหาวิทยาลัย  แต่อย่าลืมว่า ไอที เป็นเทคโนโลยีที่มีการลงทุน และมีราคาแพง จึงขึ้นอยู่กับหน่วยงานว่าจะวางแผน และใช้งานให้คุ้มค่าเต็มที่ และเกิดประโยชน์สูงสุดกับมหาวิทยาลัย องค์กร และประเทศชาติได้อย่างไร


สาระน่ารู้ประจำสัปดาห์, ฉบับที่ 19 : 22 - 28 พฤษภาคม 2543
สำนักบริการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์


เทคโนโลยีสารสนเทศกับการศึกษา



อุทัย เสนารักษ์ เขียนบทความไว้น่าสนใจดังนี้ 


               เราต่างก็ปฏิเสธไม่ได้ว่านอกจากความต้องการด้านปัจจัยสี่แล้ว ความต้องการบริโภคข้อมูลข่าวสารนับวันจะเป็นสิ่งจำเป็นและเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากวันวานที่ระยะทางมีผลต่อการติดต่อส่งข่าวสารจากผู้ส่งมาถึงผู้รับที่อาจใช้เวลานับเดือนหรือข้ามวันข้ามคืน ในขณะที่วันนี้การส่งข่าวสารที่กำลังเกิดขึ้นอยู่อีกซีกโลกทำได้โดยใช้เวลาไม่ถึงเสี้ยววินาทีความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีสารสนเทศ (IT - Information Technology) นี้ได้ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศทุกๆ ด้านทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม และส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบการศึกษา


               เทคโนโลยีสารสนเทศ โดยเฉพาะ Internet ได้เข้ามามีบทบาทในการส่งเสริมและอำนวยความสะดวกในการเรียนรู้ ช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านหรือผู้สอนช่วยลดช่องว่างของโอกาสในการศึกษาหาความรู้ระหว่างผู้เรียน ที่อยู่ในโรงเรียนในเมืองที่มีความพร้อมกับผู้เรียนที่อยู่ในโรงเรียนในชนบทที่ขาดแคลน ทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้หลากหลาย รวดเร็ว ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่ (any time anywhere and any person)


               อย่างไรก็ดี ทุกอย่างล้วนมีข้อดีและข้อเสีย หลายฝ่ายจึงเป็นห่วงและหวั่นเกรงว่าเทคโนโลยีสารสนเทศจะทำให้ผู้เรียนมีค่านิยมใหม่ ลืมวัฒนธรรมที่ดีงามไป จึงพยายามปิดกั้นและหลีกเลี่ยงกระแสของ ความเจริญทางเทคโนโลยี (ซึ่งก็ปิดกั้นไม่ได้และหลีกเลี่ยงไม่พ้น) ตรงกันข้ามเราควรถือเป็นหน้าที่ ที่ต้องชี้ให้เห็นและแนะนำให้ผู้เรียนรู้จักเลือกบริโภคข้อมูลข่าวสารที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์


               ทั้งนี้ การรับเอาความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศมิได้หมายความว่า จะต้องละเลยวัฒนธรรมและประเพณีที่เคยปฏิบัติ หากแต่ควรรู้จักผสมผสานเพื่อให้ทันกับสังคมและสภาพแวดล้อม ที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเพื่อการดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างมีความสุข


คัดลอกจาก ... http://www.phutti.net/article/tech.html
16 มิถุนายน 2554

คุณธรรมครูไทย

วันนี้ขออนุญาตคัดลอกบทความของคุณกฤษณา พันธุ์วานิช มาฝากดังนี้ นะครับ

            คำว่า "ครู" หมายถึงผู้สั่งสอน อบรม บ่มนิสัย และถ่ายทอดความรู้ให้แก่ศิษย์ ครู คือบุคคลที่ควรเคารพ เพราะคำว่าครู แปลว่า หนัก มีบุญคุณ มีคุณค่า มีความหมาย ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหง หลักที่ 1 มีข้อความที่แสดงความหมายของคำว่าครู ในทางเป็นผู้สั่งสอน ให้รู้บาปบุญคุณโทษ และให้ทำความดี เพราะเริ่มมีคำว่า "ปู่ครูนิสัยมุติ" คำนี้ ปรากฏขึ้นในหลักศิลาจารึก หลักที่ 1 ก็มีคำว่าครู แล้วต่อมาก็มีคำว่า "ครูตุ๊เจ้า" "ตุ๊ครู" "ปู่ครู" และ "ครูบา" คำว่าครูมีความหมายลึกซึ้งมาก ในหลักศิลาจารึก หรือในเตภูมิกถา ซึ่งเป็นเอกสารทางประวัติศาสตร์โบราณคดีของไทย ตรงกับคำอธิบายของพระธรรมโกศาจารย์ (ท่านพุทธทาส) ที่กล่าวว่า คำว่าครู แต่เดิมหมายถึงผู้นำทางวิญญาณ ต่อเมื่อถูกยืมมาใช้ในภาษาไทย ครูจึงเป็นความหมายเป็นสอนหนังสือ สอนวิชาชีพ โดยเนื้อแท้ดั้งเดิม เป็นผู้นำทางวิญญาณ ครูจึงมีความหมายสำคัญ อยู่ที่ว่ายกฐานะทางวิญญาณ ให้สูงขึ้น นั่นคือประกอบอยู่ด้วยธรรมะ ครูคือผู้ยกวิญญาณโลก ครูแท้ๆ ในสมัยโบราณ ทำหน้าที่ยกวิญญาณของมนุษย์ด้วยการเสียสละ เพื่อทำตนให้เป็นครูอุดมคติ ด้วยการมีธรรมะ ประยุกต์ธรรมให้เข้ากับความเป็นครู
            ครูคือใคร ครูเป็นภาษาบาลีและสันสกฤตและตามตัวว่าหนัก คือ อยู่บนศีรษะของคนทุกคนในโลก เพราะครูเป็นมัคคุเทศก์ทางวิญญาณ หรือเป็นผู้นำทางวิญญาณ หมายถึงผู้ที่ยกสถานะทางวิญญาณของคนให้สูงขึ้น เดิมวิญญาณของมนุษย์ถูกปิดอยู่ ครูเป็นผู้เปิดประตูวิญญาณให้เกิดแสงสว่าง คือ ให้คนสามารถเอาชนะกิเลส หรือ รอดพ้นจากความทุกข์ และจุดมุ่งหมายขั้นสุดท้ายของครู คือ มุ่งที่จะทำให้โลกมีสันติภาพ
            การศึกษาของไทยเริ่มขึ้นในวัด ครูก็คือพระสงฆ์ผู้มีความรู้ ทั้งธรรมของพุทธศาสนา อักขรวิธี และศิลปวิทยาการอื่นๆ นักเรียนก็คือลูกหลานของประชาชนทุกระดับชั้น มาสมัครเป็นลูกศิษย์อยู่ในวัด ก็ย่อมศึกษาเล่าเรียนไปพร้อมทั้งปรนนิบัติรับใช้พระสงฆ์ผู้เป็นครูอาจารย์ ไปด้วย ครูคือภิกษุสงฆ์ สอนด้วยความรัก ความเมตตา ลูกศิษย์ก็ศึกษาเล่าเรียนด้วยความเคารพในครูบาอาจารย์ของตนอย่างมาก
            ครูบาอาจารย์ผู้ที่เปี่ยมล้นด้วยคุณธรรมแบบนี้ ไม่เคยถือโทษ โกรธเคือง อโหสิแม้ผู้ที่มาทำร้ายตน ครูจึงเป็นผู้มีกัลยาณมิตรธรรม หรือคุรุฐานิยมธรรม ผู้เป็นครูดี จะต้องยึดมั่นในคุณสมบัติของครู หรือของมิตรที่ดี มิตรแท้ ซึ่งจะเป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัคิ อันเป็นเหตุให้เกิดความสุข ความเจริญ ทั้งแก่ศิษย์และแก่ตัวครูเอง 7 ประการ ด้วยกัน

  1. ปิโย  เป็นที่รัก เป็นที่พอใจ เพราะครูทำให้ตน ให้เป็นที่รักของศิษย์
  2. ครุ  เป็นที่เคารพ เพราะมีความหนักแน่น น่าเคารพยำเกรง
  3. ภาวนีโย  เป็นที่สรรเสริญ เพราะฝึกฝนอบรมตน ให้เจริญด้วยความรู้และความเชี่ยวชาญ
  4. วัตตา  เป็นผู้ว่ากล่าว มีความเพียรพร่ำสอน พร่ำเตือนศิษย์
  5. วจนักขโม  เป็นผู้อดทนต่อถ้อยคำ แม้จะถูกกระทบกระทั่ง เสียดสี ลองภูมิ
  6. คัมภรังกถังกัตตา  เป็นผู้กล่าวถ้อยคำอันลึกซึ้ง สอนให้เข้าใจได้แจ่มแจ้ง และลุ่มลึก
  7. โนจัฏฐาเน นิโยชเย  พึงนำไปในฐานะที่ดี ในตำแหน่งที่ดี ไม่ชักชวนในฐานะอันไม่ควร ไม่ชักนำศิษย์ไปในทางเสื่อมเสีย
            ครูอาจารย์ที่มีคุรุฐานิยมธรรมะของครู 7 ประการดังกล่าวแล้ว ย่อมเป็นครูผู้ประเสริฐ และเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของศิษย์ เนื่องจากสามารถอบรม ชักนำศิษย์ไปในทางดีด้วย ความรู้อันกระจ่างแจ้งของครู และด้วยคุณธรรมอันล้ำเลิศของครู จึงน่าจะสรุปลง ณ ที่นี่ว่า "ครูที่ดีและมีความสามารถ ต้องเป็นผู้มีความรู้คู่คุณธรรม"
กฤษณา พันธุ์วานิช
กระทรวงวัฒนธรรม


ที่มา มติชนรายวัน ประจำวันจันทร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2548
อ้างอิงจาก : http://www.piwdee.net/sem6_07.htm

ครูทูป #1 เปิดตัว ครูทูป แชนแนล KruTube Channel

12 มิถุนายน 2554

แปลภาษาทั่วโลกกับ Google Translate [by Dek-banna]


Google Maps สุดยอดโปรแกรมค้นหาแผนที่การเดินทาง [by Dek-banna]


เก็บรูปง่ายๆ กับ Google Picasa [by Dek-banna]

การใช้งาน Gmail เบื้องต้น [by Dek-banna]












โฆษณา Google ประเทศไทย

9 มิถุนายน 2554

Tools for the 21st Century Teacher

3 มิถุนายน 2554

การจัดการเรียนรู้จากแหล่งเรียนรู้

การจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการสู่พหุปัญญา

การจัดการเรียนรู้แบบประสบการณ์และเน้นที่การปฏิบัติ

การจัดการเรียนรู้แบบใช้ปัญหาเป็นฐาน

การจัดการเรียนรู้แบบสร้างองค์ความรู้

การจัดการเรียนรู้แบบโครงงาน

การจัดการเรียนรู้แบบส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์

การจัดการเรียนรู้แบบกระบวนการแก้ปัญหา

การจัดการเรียนรู้แบบพัฒนากระบวนการคิดด้วยการใช้คำถาม หมวกความคิด 6 ใบ

การคิดอย่างเป็นระบบ

 
;